คลิก คลิก คลิก จนนิ้วล็อค
คลิก คลิก คลิก คลิกงานไปคลิกงานมา อ่าวนิ้วล็อคซะงั้น ปวดสุด ๆ ไปเลย ใครที่ยังไม่เคยเป็นแต่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นเชิญฟังทางนี้ ! สำหรับพนักงานออฟฟิศคงไม่พ้นที่ต้องใช้นิ้วและมือในการใช้เมาส์ เพื่อทำงานยิ่งเราไม่ได้พักนิ้วหรือนวดคลายกล้ามเนื้อนิ้วมือละก็ เสี่ยงที่จะเป็นนิ้วล็อคอย่างแน่นอน
กลุ่มคนแบบไหนที่จะมีโอกาสเกิดอาการนิ้วล็อคได้บ่อยที่สุด ?
กลุ่มที่มีโอกาสเกิดบ่อยแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ- กลุ่มที่ต้องทำงานในลักษณะเกร็งนิ้วมือบ่อยๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น แม่บ้าน พนักงานออฟฟิศ พ่อครัวแม่ครัว ทันตแพทย์ เป็นต้น
- กลุ่มที่เป็นโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคเก๊าท์ หรือโรครูมาตอยด์ เป็นต้น
อายุ เพศ ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดนิ้วล็อคเกี่ยวมั๊ย ?
จากงานวิจัยปี 2016 ที่ศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดนิ้วล็อคจากผู้ป่วยทั้งหมด 150 คน พบว่าอายุโดยเฉลี่ยที่เกิดอาการนิ้วล็อคอยู่ที่ 60 ปี เพศชายมีโอกาสเกิดประมาณ 21% เพศหญิงมีโอกาสเกิด 45% และจะเกิดที่มือขวาที่ 58% มากกว่ามือซ้ายที่ 8% และนิ้วที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยที่สุด คือ นิ้วโป้ง อย่างไรก็ตามหนุ่มสาวออฟฟิศอย่างเราก็ควรระวังการเกิดนิ้วล็อคด้วย ไม่เพียงแค่กลุ่มที่มีอายุเยอะเท่านั้นที่จะเกิดได้ ยิ่งถ้าเราใช้งานหนักมากขนาดไหน ก็เกิดได้อยู่ดี อย่างที่ทำงานโดยเฉพาะคนที่ทำงานกราฟฟิคต่าง ๆ ทำ Excel Data แบบโหด ๆ แน่นอนว่าใช้นิ้วคลิกเยอะมากแน่นอน พี่เรนนี่ขอเตือน
พฤติกรรมชาวออฟฟิศที่เสี่ยงนิ้วล็อค
- กดแป้นพิมพ์ทำงาน
- เล่นเกมส์คอม มือถือ
- ซักผ้าด้วยมือ
- ถือของหนัก
- ตีกอลฟ์ ตีเทนนิส
บอกเลยว่าพฤติกรรมเหล่านี้ ถ้านาน ๆ ทำก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำต่อเนื่องทุกวันทำท่าเดิมซ้ำ ๆ นาน ๆ หลายชั่วโมงติดต่อกัน นิ้วล็อคถามหาแน่นอนจ้า
ระดับอาการของนิ้วล็อคเป็นยังไง ? ถ้าเป็นมาจะอันตรายขนาดไหน ?
อาการนิ้วล็อคแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 สัญญาณเตือน : ปวดโคนนิ้วมือ ถ้าเอานิ้วกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้าจะมีอาการปวดมากขึ้น
ระดับที่ 2 เริ่มควบคุมไม่ได้ : มีอาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้ว
ระดับที่ 3 ติดล็อค : เมื่องอนิ้วลงจะมีอาการติดล็อก ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องใช้มืออีกข้างช่วยแกะ
ระดับที่ 4 อักเสบและบวม : ไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงได้ ถ้าใช้มืออีกข้างหนึ่งมาช่วยแกะ จะปวดมาก
ยิ่งถ้าปล่อยให้เรื้อรัง ไม่ยอมรักษาขั้นหนักสุดอาจจะต้องผ่าตัดเลยก็ได้นะ
วิธีรักษาอาการนิ้วล็อคแต่ละระดับทำยังไงดี?
- ทายาแก้ปวดกลุ่ม NSAID ลดอาการปวด บวม อักเสบ ทานแล้วก็จะหายปวดสักระยะ แต่ถ้าเรายังมีพฤติกรรมเดิม มันก็จะมีอาการปวดขึ้นอีก
- ดามนิ้ว ประคบร้อน กายภาพบำบัด เป็นการรักษาเพื่อลดความเจ็บปวดระยะสั้น แต่ถ้าฝึกกายภาพเรื่อย ๆ ก็หายได้
- ฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เฉพาะที่ ลดการอักเสบ ลดการบวมของเส้นเอ็น พี่เรนนี่ขอ * ไว้เลยว่าไม่ควรฉีดเกิน 2-3 ครั้ง เพราะยากลุ่มสเตียรอยด์มีผลต่อการทำงานของตับ
- ผ่าตัด เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวได้สะดวก แผลหลังผ่าตัดห้ามโดนน้ำประมาณ 1-2 อาทิตย์
ค่ารักษาและเคลมประกันนิ้วล็อคราคาเฉลี่ยเท่าไหร่ ?
- แพ็กเกจรักษาโรคนิ้วล็อค ด้วยนวัตกรรม A-Knife (เจาะผ่านผิวหนัง) ราคา 8,950 บาท ต่อนิ้ว
- แพ็กเกจรักษาโรคนิ้วล็อค ด้วยเทคโนโลยีเครื่องอัลตร้าซาวด์นำทาง ราคา 10,500 บาท ต่อนิ้ว
- แพ็กเกจผ่าตัดรักษาโรคนิ้วล็อค ราคา 22,000 บาท ต่อนิ้ว
**ราคาดังกล่าวไม่รวมค่ายา อุปกรณ์กายภาพ เวชภัณฑ์สำหรับกลับบ้าน
**ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามแต่ละโรงพยาบาล
รู้งี้แล้วการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรคนิ้วล็อคย่อมเป็นยารักษาที่ดีที่สุดในระยะยาว รวมถึงการกายภาพบำบัดด้วยการคลายนิ้วมือให้ยืดเส้นสม่ำเสมอ แค่นี้ก็รักษาแบบระยะยาวได้แบบสบายใจ ไม่ต้องผ่าตัด ฉีดยา หรือ ทานยาแก้ปวดนาน ๆ ด้วยความหวังดีจากพี่เรนนี่ ! แล้วเจอกับพี่เรนนี่อีกครั้งในคู่มือสุขภาพมนุษย์ออฟฟิศ Ep ต่อไปนะคะ
รัก
พี่เรนนี่
ที่มา :
https://www.researchgate.net/publication/297744403_Using_the_international_classification_of_functioning_to_examine_the_impact_of_trigger_finger
https://www.medparkhospital.com/content/trigger-finger-package
https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/packages-promotions/soft-tissue-release-trigger-finger
https://www.bth.co.th/th/package-orthopedic-th/item/1171-Finger-locking-package-with-innovative-A-Knife.html