remove_red_eye9.8K Views
เลือกประกันสุขภาพฉบับมือใหม่
โพสต์วันที่ 19/04/2020
น้อง ๆ เคยเป็นกันมั้ยคะ? ก็รู้ทั้งรู้นะว่ามีประกันสุขภาพติดตัวไว้ยังไงก็ดีกว่า แต่พอเสิร์ชดูแผนประกันหลาย ๆ เจ้าทีไร คือไปต่อไม่ถูกแล้วจ้า มีแผนประกันให้เลือกเยอะมากจนไม่รู้ว่าอันไหนจะดีที่สุด สุดท้ายก็ดองมันไว้อย่างนั้น ไม่ได้ซื้อประกันสักที
พี่เรนนี่เข้าใจความรู้สึกของน้องเลยค่ะ ว่าประกันตัวแรก ๆ ที่ทำเนี่ยยังไงก็เลือกยากเสมอ แต่ก็ไม่เป็นไรนะคะ เดี๋ยววันนี้พี่เรนนี่ได้เอา guideline การเลือกซื้อประกันสุขภาพสำหรับมือใหม่หัดซื้อประกัน ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ เพียง 3 ขั้นตอนมาคุยให้ฟัง ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะทำให้น้องสามารถวางแผนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ล่วงหน้า แม้ยังไม่รู้ว่าการเจ็บป่วยเหล่านั้นจะมาเยือนเราเมื่อไหร่ แต่เตรียมพร้อมไว้ก่อนยังไงก็ดีเสมอ มาค่ะ! ถ้าพร้อมแล้วตามพี่เรนนี่ไปดูวิธีเลือกซื้อประกันทีละสเต็ปกันเลย
ประเมินค่าใช้จ่าย ขั้นตอนที่ 1: รักษาแบบไหน
เริ่มแรก ให้น้องลองดูก่อนเลยว่าถ้าสมมุติเจ็บป่วยขึ้นมาจริง ๆ เรามีความพึงพอใจในการรักษาพยาบาลยังไง เรื่องนี้เป็นตัวเลือกส่วนบุคคลมาก ๆ บางคนอาจสะดวกใจรักษาโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป แต่บางคนอย่างพี่เรนนี่เนี่ย ต้องโรงพยาบาลเอกชนตัวท็อปเท่านั้น ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป ก็ให้น้องเอาค่าใช้จ่ายจากรูปแบบการรักษาที่พอใจมาคำนวณ
โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ว่าแพงเนี่ย อาจมาจากค่าใช้จ่ายไม่กี่อย่าง อย่างเช่น ค่ายา ค่าอุปกรณ์ ค่าแล็ป และค่าห้อง เพื่อให้เห็นภาพ พี่เรนนี่รวบรวมตัวอย่างเรทค่าห้องแบบเตียงเดี่ยว, VIP และเตียงรวมของโรงพยาบาลให้ดูคร่าวๆ ในอัพเดทค่าห้องโรงพยาบาล 2563 ตามเงินในเป๋า
ก็จะเห็นได้ว่าค่าห้องจะแพงขึ้นตามรูปแบบการรักษาในแต่ละระดับโรงพยาบาล แล้วถ้ายิ่งบวกค่าห้องแบบ VIP ราคาก็คูณ 3 หรือคูณ 4 เท่าไปเลยจ้ะ ส่วนใหญ่อยู่ที่ 8,000 - 20,000 บาท แล้วพอน้องเลือกได้ว่าอยาก เข้ารักษาในโรงพยาบาลระดับไหน ก็ให้เอาค่าห้องตรงนี้มาเป็นปัจจัยที่ต้องดูเวลาซื้อประกันให้ครอบคลุม จะได้ไม่ต้องมาจ่ายส่วนต่างทีหลังตอนเคลมประกันค่ะ
อย่างพี่เรนนี่ ที่ให้ป่วยยังไงก็ต้องเข้าโรงพยาบาลระดับท็อปเท่านั้น เพราะป่วยทั้งทีก็อยากให้เขาดูแลเราดี ๆ อยู่สบาย ๆ ดีกว่า พี่ก็เลยตั้งธงไว้เลยว่า ค่าห้องของพี่อย่างน้อยๆก็ต้อง 7,500 อัพ แบบนี้เวลาทำประกันก็อาจจะเผื่อเรื่องเงินเฟ้อจนทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ก็จะหาอันที่ให้ค่าห้อง 9,000 - 15,000 บาทไปก่อนเลย
ประเมินค่าใช้จ่าย ขั้นตอนที่ 2: รักษาอะไร
ในส่วนนี้ พี่เรนนี่อยากให้น้องลองประเมินความเสี่ยงในชีวิตตัวเองดู ว่าเรามีโอกาสจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง ซึ่งการประเมินความเสี่ยงตรงนี้ก็ทำได้ทั้งจากการดูสภาพแวดล้อมในการทำงาน, lifestyle, ประวัติอาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว, หรือเทรนด์การเกิดโรคต่าง ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนย่อมมีความเสี่ยงรวมไปถึงความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพแตกต่างกันไป
พอน้องลองลิสต์อาการเจ็บป่วยที่คาดว่าน่าจะเกิดในอนาคตได้แล้ว ก็ลอง search หาดูว่าโรคนั้น ๆ น่าจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ รักษานานไหม ร้ายแรงแค่ไหน ถ้าให้แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ก็แบ่งได้แบบนี้ค่ะ
- ช่วงเวลาที่อาจเกิดโรค: โดยให้ดูว่าโรคที่น่าจะเกิดในอนาคตจะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหน ซึ่งแบ่งช่วงเวลาได้เป็น 2 ช่วง ก็คือ
- ช่วงระยะกลาง: หมายถึงโรคที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างปัจจุบันนับไปอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งถ้าให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างน้อง ๆ ส่วนใหญ่ก็เริ่มทำงานกันแล้วตอนนี้ โรคที่มีโอกาสเกิดก็อย่างเช่นโรคที่มีผลมาจากออฟฟิศซินโดรม หรือโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงวัย 20 - 40 ปี
- ช่วงระยะยาว: หมายถึงโรคที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตทั้งชีวิต ที่เราไม่สามารถรู้เลยว่าโรคเหล่านี้ จะมาเยือนเมื่อไหร่
- โรคต่าง ๆ และค่ารักษาต่อครั้ง: อย่างลิสต์ข้างล่างนี้ เป็นตัวอย่างค่ารักษาคร่าว ๆ ถ้าน้องไปนอนโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป จะแบ่งตามความรุนแรงของโรค ก็คือ
- โรคเบา ๆ เช่น
- ท้องเสียรุนแรง: นอนโรงพยาบาล 1-2 คืน ค่ารักษาต่อครั้งประมาณ 15,000 - 30,000 บาท
- ไข้หวัดใหญ่: นอนโรงพยาบาล 5 คืน ค่ารักษาต่อครั้งประมาณ 65,000 บาท
- โรคที่ต้องผ่าตัด เช่น
- ไส้ติ่งอักเสบ: นอนโรงพยาบาล 3-4 คืน ค่ารักษาต่อครั้งประมาณ 99,000 - 280,000 บาท
- ไส้เลื่อน: นอนโรงพยาบาล 1-2 คืน ค่ารักษาต่อครั้งประมาณ 59,000 - 215,000 บาท
- เนื้องอกในรังไข่: นอนโรงพยาบาล 1-2 คืน ค่ารักษาต่อครั้งประมาณ 56,000 - 180,000 บาท
- นิ่วในไต: นอนโรงพยาบาล 1-3 คืน ค่ารักษาต่อครั้งประมาณ 73,000 - 135,000 บาท
- โรคเรื้อรัง/ร้ายแรง เช่น
- ผ่าตัด balloon หัวใจ: นอนโรงพยาบาล 1-2 คืน ค่ารักษาต่อครั้งประมาณ 150,000 - 350,000 บาท
- มะเร็ง : คีโม 5,000/ครั้ง, ฉายแสง 2,400/ครั้ง, ให้ยาต้านมะเร็ง 95,000/เข็ม, รวมทั้งสิ้น ค่ารักษาเกือบ ๆ 2 ล้าน
- โรคเบา ๆ เช่น
แล้วถ้าสมมุติคิดเป็นแบบ Worst Case ไปเลยว่าสักวันจะเจอเคสที่ร้ายแรงที่สุดอย่างมะเร็ง ค่าใช้จ่ายก็อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท แล้วในอนาคตอาจจะมีเงินเฟ้อ ทำให้ค่าใช้จ่ายแพงขึ้นไปอีก งั้นพี่เรนนี่ก็กะว่าจะทำประกันที่มีทุนประกันซัก 2 - 5 ล้านบาทกำลังดี
แต่สำหรับใครที่ยังมองว่าตอนนี้ทำประกันแบบระยะสั้น ๆ แบบแค่ 10-20 ปีไปก่อน ยังไม่คิดว่าจะเป็นโรคร้ายแรงเร็ว ๆ นี้ อาจจะซื้อความคุ้มครองแค่ 5 - 6 แสนก็ได้เหมือนกันนะคะ
3. Match ค่าเบี้ย
พอเราสามารถประเมินค่าใช้จ่ายทุกอย่างออกมาได้เสร็จสรรพ ทั้งเรทค่าห้องและค่ารักษา และรู้ชัดเจนแล้วว่าเราอยากได้ทุนประกันคุ้มครองสักประมาณเท่าไหร่ ก็ให้นำเอาข้อมูลตรงนี้ไปเทียบกับแผนประกันที่ต่าง ๆ ที่เขาเสนอขาย แล้วให้เลือกเจ้าที่ตรงกับแผนของเรามากที่สุด แบบตอบโจทย์ที่เราตั้งไว้และที่เราจ่ายไหว
อย่างเคสพี่เรนนี่เองก็ให้ตัวแทนหลาย ๆ เจ้าเสนอราคาตามทุนประกันกับค่าห้องมาเลย ก็มีอยู่ 3 เจ้าที่ พิจารณานั่นก็คือ ตัว Package A, Package B แล้วก็ Package C ซึ่งก็มีทั้งแบบทุนประกัน 2 - 5 ล้านตามที่คิด
เราจะเห็นว่าราคาค่าเบี้ยกับจำนวนความคุ้มครองของแต่ละเจ้าก็ล้อกันมาเลย แบบนี้ก็พอเทียบเบี้ยแล้วตอบตัวเองได้ละ
แต่พี่เรนนี่ขอดูละเอียดกว่านั้นหน่อยก็จะเอาตารางความคุ้มครองของทุกเจ้ามากางเทียบเลย ซึ่งพอลองเทียบดูแล้ว พี่เรนนี่ว่าจะเลือกตัว Package B แบบความคุ้มครอง 5 ล้านบาทนะ เพราะตอบโจทย์ตรงที่ค่าห้องไอซียูเขาจ่ายตามจริงกันไปเลยจ้า ไม่มีลิมิต แล้วอยู่ได้นานกว่า บวกมีค่าพยาบาลพิเศษเยอะกว่าด้วย ยังไงก็ต้องมีค่านี้ เพราะตัวพี่เองก็ยังหาสามีไม่ได้ กลัวจะไม่มีคนดูแลอะนะ ส่วนค่าหมอเยี่ยมไข้ ปกติก็น่าจะไม่เกิน 3,000 แล้วนี่ยอมจ่ายตามจริงก็ถือว่าโอมาก ๆ
เริ่มดูประกันวันนี้ อุ่นใจไปได้อีกนานนะจ๊ะ
พี่เรนนี่เข้าใจปัญหาของน้อง ๆ ทุกคนนะ ว่าที่ยังไม่ได้ซื้อประกันเนี่ย อาจเป็นเพราะคิดว่าตัวแทนประกันคอยตามจิกจนรำคาญ บางคนก็กลัวจะมีปัญหาเอาตอนเคลม บางคนก็ยังคิดว่าตอนนี้ยังแข็งแรงคงไม่เจ็บป่วยอะไร หรือบางคนก็เลือกไม่ถูกจริง ๆ ว่าจะซื้อประกันแบบไหน กลัวซื้อไปเดี๋ยวพลาดโดนประกันหลอก เพราะไม่มีความรู้พอและไม่รู้จะเชื่อใครดี
แต่พี่เรนนี่ก็ยังอยากให้น้อง ๆ ทุกคนลองหาเวลาว่างมานั่งทบทวนความต้องการในการดูแลสุขภาพของตัวเองทั้งในปัจจุบันและอนาคตดูนะ แล้วลองทำตามวิธีเลือกซื้อประกันที่พี่เรนนี่แนะนำ พี่เชื่อว่ามันจะช่วยให้เรา ได้รู้จักความต้องการของตัวเองมากขึ้น มองเห็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว และสามารถวางแผนรายจ่ายนั้น ๆ ได้ทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดอาการเจ็บป่วยที่ไม่คาดฝัน อีกทั้งน้องอาจเอาข้อมูลในมือที่มีไปใช้คุยกับตัวแทนก็ได้ จะได้ลดการโดนหลอกให้ซื้อในสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการ หรือสิ่งที่เราไม่ได้ใช้จริง ๆ และทำให้น้องมีหลักในการเลือกประกันแบบไม่โก๊ะไม่เบลอเหมือนแต่ก่อน
ยังไงก็อยากให้น้อง ๆ ลองเอาไปทำดูกันนะคะ เธอคนไหนที่ยังคิดไม่ตก เลือกซื้อประกันไม่ได้มาหลายปีดีดัก จะได้มีประกันเป็นของตัวเองสักที ถึงพี่เรนนี่จะยังหาแฟนไม่ได้ แต่พี่เรนนี่ก็หาประกันที่ใช่เจอแล้วนะเออ!