PTSD ภาวะเครียด ป่วยทางจิต จากเหตุการณ์รุนแรง
ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงตอนนี้ ก็น่าจะเป็นปีที่หนักหน่วงมากๆสำหรับใครหลายๆคน แถมสถานการณ์โควิดก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น เราเริ่มเห็นหลายคนสูญเสียคนใกล้ชิดและครอบครัวไปอย่างน่าเศร้า ยังไม่รวมผู้คนที่ต้องออกจากงานหรือธุรกิจขัดสนด้วยผลกระทบจากโควิด-19 อีกนับไม่ถ้วน
สำหรับคนที่ระมัดระวังตัวอย่างดี ก็ยังไม่พ้นต้องเจอความเครียดจากข่าวด้านลบในแต่ละวัน จนเรียกได้ว่า แทบทุกคนกำลังประสบกับเหตุการณ์ร่วมกันที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างบาดแผลทางใจ (Trauma) เป็นอย่างมาก หากใครรับไม่ไหว ก็อาจเกิดเป็นภาวะกระทบกระเทือนจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง หรือที่เรียกว่า Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) ได้
PTSD คือสภาวะเครียดจนส่งผลให้เกิดความกระทบกระเทือนจิตใจและอาการสารสื่อประสาทสมองผิดปกติหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรง เช่น การฆาตกรรม สงคราม การปล้นชิงทรัพย์ ภัยพิบัติต่างๆ การก่อจลาจล การถูกข่มขืน โรคระบาด การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์รุนแรง และรวมไปถึงผู้ที่ต้องพบเจอหรือเป็นพยานให้กับเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำๆ รวมถึงจากหน้าที่การงาน เช่น จิตแพทย์ ตำรวจ นักข่าว
โดยแม้ผู้ประสบเหตุการณ์เหล่านี้จะรอดชีวิตมาได้ แต่ก็จะเกิดบาดแผลทางใจและความเครียดอย่างมากจากการกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เกิดเป็นความบกพร่องในหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆตามมา ซึ่งผู้ที่อยู่ในภาวะ PTSD มักมีอาการต่างๆดังนี้ครับ:
-
อาการที่ประสบการณ์สะเทือนขวัญรุกล้ำเข้ามาในจิตรู้สำนึก (Intrusive symptoms)
-
อาการหลีกเลี่ยง (Avoidance)
-
อาการกลุ่มร่างกายตื่นตัว (Hyperarousal)
-
ปฏิกิริยาตอบสนองต่อร่างกายในด้านลบ (Negative reaction หรือ Negative emotion)
หากน้องๆ หรือคนใกล้ชิดมีอาการเข้าข่ายตามด้านบน งั้นมาต่อกันทางนี้เลยครับ จากข้อมูลที่พี่แมนค้นคว้ามา พบว่าวิธีการรักษาภาวะ PTSD จะแบ่งตามความรุนแรงของอาการได้เป็น 2 ระยะหลักๆ คือ:
1. การรักษาระยะแรก เมื่อเกิดอาการเฉียบพลัน (Acute Stress Disorder):
ภายหลังจากเกิดจากการประสบเหตุการณ์รุนแรง อันจะกระทบกระเทือนจิตใจจนเกิดอาการเครียดเฉียบพลันรวมถึงอาการทางประสาท แต่อาการระยะแรกเหล่านี้มักหายไปภายในหนึ่งเดือน โดยในระหว่างนี้ จะมีวิธีบำบัดรักษา ก็คือ:
-
วิธีจิตบำบัด:
จะใช้การพูดคุยเพื่อบำบัดรักษาเป็นหลัก โดยจะทำได้เมื่อผู้ป่วยพร้อมที่จะที่จะปรับเปลี่ยนความคิด เริ่มจากการพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกและความคิดของผู้ป่วย รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจและปรับทัศนคติที่มีต่อสิ่งต่างๆให้ดียิ่งขึ้น
โดยในการบำบัด ควรทำจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ทั้งนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ที่ผ่านการฝึกด้านจิตบำบัดที่จะต้องรับฟังโดยไม่ตัดสินและแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ของผู้ป่วยอย่างแท้จริง แล้วจึงชี้นำให้ผู้ป่วยพิจารณาว่ามีปัญหาที่สามารถแก้ไขได้หรือไม่ ก่อนจะเสนอแนวทางการแก้ปัญหา หรือการปฏิบัติตัวในอาการช่วงแรก
-
การบำบัดด้วยยา
ถ้าหากทำได้ ผู้ป่วย PTSD ในระยะแรกควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ให้สามารถนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย และผ่อนคลายกับสิ่งที่ชอบ เช่น หางานอดิเรกทำในยามว่างหรือเมื่อรู้สึกเครียด พบปะสังสรรค์กับเพื่อนหรือพูดคุยกับคนในครอบครัว เข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และห้ามรับประทานยาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ครับ
2. การรักษาระยะที่สอง เมื่อเกิดภาวะ PTSD
เมื่อผ่านพ้นช่วงอาการเฉียบพลันหนึ่งเดือนแรกภายหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงมาแล้ว ผู้ป่วยอาจเกิดสภาวะทางจิตแบบ PTSD ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยอาจทิ้งช่วงยาวนานหลายเดือนหรือเป็นปีกว่าจะเริ่มมีอาการ แต่เมื่อเกิดอาการช่วงที่สองแล้ว สามารถรักษาได้ดังนี้ครับ:
-
วิธีจิตบำบัด
โดยใช้วิธีการพูดคุยคล้ายกับการรักษาในระยะแรก เพื่อเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยปรับทัศนคติที่มีต่อสิ่งต่างๆ โดยการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด เป็นวิธีที่ละเอียดอ่อน ควรดำเนินการบำบัดโดยนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ที่ผ่านการฝึกเฉพาะให้รับรู้เกี่ยวกับบาดแผลทางใจ (Trauma-informed) เพราะหากพูดคุยอย่างไม่เข้าใจหรือใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง ก็มีความเสี่ยงสูงที่ผู้ป่วย PTSD จะมีอาการรุนแรงกว่าเดิมครับ
-
การบำบัดด้วยยา
ในระยะนี้ จิตแพทย์อาจใช้ยารักษาอาการซึมเศร้าเพื่อควบคุมความรู้สึกเศร้าและวิตกกังวลของผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น ยาต้านเศร้า SSRI ยากลุ่มไตรไซคลิก ยาควบคุมอารมณ์ และยารักษาโรคจิตเวชกลุ่มใหม่ นอกจากนี้ อาจใช้ยาลดความดันโลหิตเพื่อควบคุมอาการบางอย่างด้วย เช่น ยาพราโซซินที่ใช้ลดอาการฝันร้าย และยาโพรพราโนลอลที่ใช้รักษาความวิตกกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น โดยแพทย์มักไม่นิยมให้ใช้ยากล่อมประสาท เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการติดยาได้ครับ
-
การบำบัดด้วยการเผชิญหน้า
และหากใครที่เริ่มรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลจากสถานการณ์ในช่วงนี้สะสมเป็นเวลานาน หรือมีคนใกล้ชิดมีอาการคล้ายกับ PTSD หรืออาการทางจิต ก็สามารถขอรับคำปรึกษาผ่านทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงได้เลยนะครับ
ดังนั้น พี่แมนขอให้ทุกคนดูแลรักษาสุขภาพให้ดีทั้งกายและใจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเครียดและปัญหาต่างๆ ทางเดียวที่จะประคองตัวเองไปสู่วันที่ดีกว่าได้ก็คือการผ่านพ้นมันไปด้วยกันนะครับ พี่แมนและรีวิวประกันขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังประสบสถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ด้วยนะครับ
พี่แมน
ขอบคุณข้อมูลจาก:
https://www.pobpad.com
https://www.rama.mahidol.ac.th
http://www.med.swu.ac.th
https://thestandard.co
นายแพทย์ชยุติ วงศ์เลิศวิศวกร