วางแผนภาษีปี 2563 เพื่อยื่นภาษีในปี 2564
คงเป็นเพราะสถานการณ์โควิดปีนี้ ที่ทำให้การยื่นภาษีคราวล่าสุดถูกผ่อนผันให้ยื่นได้ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 เผลอแป๊บเดียวก็ถึงเวลามาวางแผนภาษีปลายปีกันอีกแล้วนะครับ
สำหรับใครทีคิดว่าปีหน้าค่อยมาคำนวณ พี่แมนขอแนะนำไว้เลยนะครับว่ารายการนำภาษีมาลดหย่อน ต้องเป็น “ค่าใช้จ่ายภายในปีภาษีล่าสุด” เท่านั้น และบางรายการก็มีกำหนดเวลาการใช้จ่ายที่ควรทราบ เราจึงควรรู้จักการวางแผนภาษี และหาวิธีลดหย่อนภาษีกันตั้งแต่ปีนี้ อันจะทำให้มีเงินเก็บเพิ่มอีกไม่น้อย และเพื่อให้เห็นภาพว่าทำไมเราจึงควรวางแผนภาษีกัน พี่แมนขอเปรียบเทียบให้เห็นกันชัดๆ ไปเลย ดังตัวอย่างด้านล่างนี้ครับ
พี่เรนนี่ สาวโสดผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่ง มีรายได้รวมโบนัสประมาณปีละ 2,000,0000 บาท และพี่เรนนี่จ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 300,000 บาท จ่ายเงินสมทบประกันสังคม 5,850 บาท ดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา 2 ท่าน
พอเห็นตัวเลขการประหยัดภาษีของพี่เรนนี่แล้ว งั้นเรามาเริ่มคำนวนภาษีกันเลยดีกว่าครับ
หลักการคำนวนภาษี
เริ่มแรก เรามาดูหลักการคำนวนภาษีเพื่อให้เห็นภาพกันก่อนนะครับ โดยมีสูตรคำนวนง่ายๆ คือนำเงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิดูไม่ยากจนเกินไปใช่มั้ยล่ะครับ โดยอัตราภาษีที่ต้องนำมาคูณกับเงินได้สุทธิ ก็จะดูจากขั้นบันไดฐานภาษี ดังนี้ครับ:
จากนั้น นำเงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
ขั้นบันไดฐานภาษี
- เงินได้สุทธิ 0 -150,000 บาท ได้รับการยกเว้นอัตราภาษี
- เงินได้สุทธิ 150,001 - 300,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 5%
- เงินได้สุทธิ 300,001 - 500,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 10%
- เงินได้สุทธิ 500,001 - 750,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 15%
- เงินได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 20%
- เงินได้สุทธิ 1,000,001 - 2,000,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 25%
- เงินได้สุทธิ 2,000,001 - 5,000,000 บาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 30%
- เงินได้สุทธิ 5,000,000 บาท ขึ้นไป มีอัตราภาษีอยู่ที่ 35%
นอกจากนี้ กฎหมายก็กำหนดไว้ว่าใครต้องยื่นภาษีและเสียภาษีบ้าง ดังนี้ครับ:
- เงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท (รายได้ทั้งปี 120,000 บาท) ไม่ต้องยื่นและเสียภาษี
- เงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- เงินเดือนมากกว่า 26,583.33 ขึ้นไป ต้องยื่นและเสียภาษี
รายการหักลดหย่อน ปี 2563
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว: ลดหย่อนได้ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีรายได้: ลดหย่อนได้ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตร: ลดหย่อนได้ 30,000 บาทต่อบุตร 1 คน
- ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป: และเกิดตั้งแต่ปี 2561 ลดหย่อนได้ 60,000 บาท (ซึ่งเป็นนโยบายการส่งเสริมคนไทยให้มีบุตรเพิ่มขึ้น)
- ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร: ไม่เกินปีละ 60,000 บาท (กรณีภรรยาไม่มีเงินได้)
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา: ซึ่งต้องอายุ 60 ปีขึ้นไป ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน
- ค่าอุปการะคนพิการ หรือ คนทุพพลภาพ: ลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคน
- ประกันสังคม: ที่ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท ต่อปี
- เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมกองทุน กบข.และกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน: ลดหย่อนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บาทจะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเอาไปคำนวณภาษี
- เงินสะสม กอช.: ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 13,200 บาท และเมื่อรวมกับข้อ 9, RMF และเบี้ยประกันแบบบำนาญแล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิต: หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง: หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท (ดูแผนประกันสุขภาพ)
- เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา: ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท (ดูแผนประกันสุขภาพ)
- ประกันชีวิตคู่สมรส: หากคู่สมรสไม่มีเงินได้ ลดหย่อนได้ามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ: หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้และต้องไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และ RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF): ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ และต้องไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และ RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX): ลดหย่อนจามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท เฉพาะปีภาษี 2563 ปีเดียวเท่านั้น โดยต้องซื้อกองทุน ระหว่าง 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2563
- RMF: ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ และเมื่อรวมกับข้อ 9 แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท และต้องลงทุนต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปี
- ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย: ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต: ลดหย่อนเพิ่มได้อีก เมื่อมีรายได้จากค่าเช่า ค่าวิชาชีพอิสระ ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หรือรายได้จากการทำธุรกิจอื่นๆ
- เงินบริจาคพรรคการเมือง: ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- ค่าซื้อโครงการบ้านหลังแรก ที่ซื้อในปี 2559: จะสามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 120,000 บาท
- โครงการช้อปดีมีคืน: หรือค่าซื้อสินค้าและบริารในประเทศในหมวดหนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ภายในประเทศ ช่วงระหว่าง 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลของรัฐ: ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคทั่วไป: ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% หลังหักค่าลดหย่อน
เพราะฉะนั้นแล้ว ในเคสของพี่เรนนี่ จะมีเงินได้ทั้งหมดเท่ากับ 2,000,000 บาท มีค่าใช้จ่ายที่นำมาหักลบได้ เหมาซะ 100,000 บาท ส่วนค่าลดหย่อนนั้น จะแบ่งได้เป็น:
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 300,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 15% ของรายได้พอดี
- เงินสมทบประกันสังคม 5,850 บาท
- ค่าดูแลบิดามารดา 2 คน x 30,000 = 60,000 บาท
เมื่อนำค่าลดหย่อนทั้งหมดมารวมกัน จะสามารถลดหย่อนได้เท่ากับ 365,850 บาท ดังนั้น จะคำนวณเงินได้สุทธิของพี่เรนนี่ได้เป็น:
เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
2,000,000 - 100,000 - 365,850 = 1,534,150 บาท
ด้วยจำนวนเงินได้สุทธิเท่านี้ ทำได้จะมีอัตราภาษีเท่ากับ 25% ทำให้พี่เรนนี่ต้องจ่ายภาษีเป็นจำนวนเงินทั้งหมด
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
1,534,150 x 25% = 383,537.5 บาท
ปาดเหงื่อกันไปเลยนะครับพี่เรนนี่ของพวกเรา กับการต้องจ่ายภาษีที่แพงจากฐานภาษีที่สูงและมีรายการลดหย่อนไม่มาก ดังนั้น หากเราวางแผนกันซักนิดก่อนที่จะเริ่มยื่นภาษี ก็จะทำให้คุณรู้ว่ารายได้เท่าไหน เสียภาษีกี่เปอร์เซนต์ แล้วอะไรสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง
เพียงคุณใส่ใจทุกรายละเอียดการใช้จ่าย หรือลงทุนเพื่อผลตอบแทนในอนาคต จะก็ทำให้คุณลดหย่อนภาษีไปได้ไม่น้อย พี่แมนเอาใจช่วยทุกคนให้ผ่านพ้นฤดูกาลเสียภาษีที่กำลังจะมาถึงไปได้ด้วยดีนะครับ และก่อนคุณจะซื้อประกันซักฉบับเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี รวมถึงยังได้ประโยชน์ความคุ้มครองที่ทำให้คุณและครอบครัวอุ่นใจในชีวิต ก็อย่าลืมมาอ่านรีวิวประกันกันซักนิด ให้ชัวร์ว่าใช่ ได้ที่เว็บไซต์รีวิวประกันแห่งนี้เลยนะครับ :)