Community Isolation ในกรุงเทพฯ
หากใครอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ คงทราบดีว่าสถานการณ์โควิด-19 ในตอนนี้หนักหนาแค่ไหน จากที่รัฐเคยกำหนดให้ทุกคนที่ติดโควิดต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ตอนนี้ก็ออกมาตรการใหม่ที่แบ่งประเภทผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่มสีหลักๆตามความรุนแรงของอาการ ทำให้ใครที่มีอาการไม่รุนแรงมาก รัฐก็จะให้แยกกักตัวอยู่ที่บ้านแทน หรือที่เรียกว่า Home Isolation เพื่อบรรเทาวิกฤตขาดแคลนเตียงและห้องไอซียู
แต่น้องๆทราบไหมว่า หากเราติดโควิดแต่มีอาการไม่รุนแรง ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับใครที่ไม่สะดวกจะกักตัวที่บ้าน อาจเนื่องมาจากกลัวคนที่บ้านติดเชื้อไปด้วยเพราะที่อยู่อาศัยคับแคบ ไม่มีที่ให้แยกกักตัว ก็สามารถเลือกกักตัวกับศูนย์ Community Isolation ที่เป็นการแยกกักตัวผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน และเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการรุนแรงระหว่างรอเตียงรักษาต่อไป
แล้วผู้ป่วยแบบไหนถึงจะสามารถกักตัวแบบ Community Isolation ได้ มีรายละเอียดการดูแลจากทางรัฐอย่างไร และสามารถทำได้ที่ไหนบ้างในกรุงเทพฯ ตามไปดูพร้อมๆกันกับพี่แมนเลยครับ
Community Isolation ใครกักตัวที่นี่ได้บ้าง?
ก่อนอื่น ขอพี่แมนเกริ่นถึงการแยกประเภทผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่มตามความรุนแรงของอาการโควิดก่อน นั่นก็คือ:
- กลุ่มสีเขียว: ตรวจพบจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกและจากระบบบริการ หรือการไปค้นหาในชุมชนหรือไปตรวจในระบบบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น และไม่มีอาการทางเดินหายใจส่วนล่าง สามารถนำเข้า รพ.สนาม หรือฮอสพิเทล (Hospitel) หากมีที่ว่างได้
- กลุ่มสีเหลือง: มีอาการแต่ไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1,000
- กลุ่มสีแดง: มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก เอ็กซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96% หรือหากภายหลังจากการออกแรง ออกซิเจนลดลงมากกว่า 3% ของค่าที่วัดได้ในครั้งแรกที่ออกแรง
สิ่งที่จะได้รับ เมื่อกักตัวแบบ Community Isolation
ผู้ป่วยที่กักตัวแบบ Community Isolation จะได้รับอุปกรณ์ที่จำเป็นในการตรวจเช็คอาการด้วยตนเอง พร้อมการติดตามอาการจากแพทย์และพยาบาลด้วยระบบ Telemedicine และรวมถึงได้รับอาหารครบ 3 มื้อครับ
ศูนย์ Community Isolation ในกรุงเทพฯ
หากใครตรวจพบเชื้อ และต้องการกักตัวแบบ Community Isolation ในกรุงเทพฯก็มีศูนย์พักคอยรอเตียงผู้ป่วยโควิดทั้งหมด 14 ศูนย์ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 2,176 เตียง ดังนี้ครับ:
-
กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ
- เขตบางเขน: ใช้พื้นที่ศูนย์กีฬารามอินทรา รองรับได้ 150 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
- เขตจตุจักร: ใช้พื้นที่ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์ รองรับได้ 180 เตียง และศูนย์สร้างสุขทุกวัยจตุจักร รองรับได้ 120 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลกลาง
- เขตดอนเมือง: ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยดอนเมือง รองรับได้ 150 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลกลาง
- เขตหลักสี่: ใช้พื้นที่โรงเรียนการไปรษณีย์ รองรับได้ 120 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลกลาง
- เขตลาดพร้าว: ใช้พื้นที่สำนักงานสนับสนุนและส่งเสริมวิชาการ 2 ซ.ประดิษฐ์มนูธรรม 19 รองรับได้ 100 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลกลาง ทั้ง 2 ศูนย์อยู่ระหว่างดำเนินการ
-
กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง
- เขตพระนคร: ใช้พื้นที่อาคารปฏิบัติธรรม วัดอินทรวิหาร รองรับได้ 200 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
- เขตดินแดง: ใช้พื้นที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนฯ ไทย-ญี่ปุ่น รองรับได้ 150 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
- เขตห้วยขวาง: ใช้พื้นที่อาคารทางเข้า RCA ฝั่ง TOP รองรับได้ 145 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ทั้ง 2 ศูนย์อยู่ระหว่างดำเนินการ
-
กลุ่มเขตกรุงเทพใต้
- เขตคลองเตย: ใช้พื้นที่วัดสะพาน รองรับได้ 250 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลสิรินธร
- เขตสวนหลวง: ใช้พื้นที่วัดปากบ่อ รองรับได้ 140 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลสิรินธร
-
กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก
- เขตหนองจอก: ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยหนองจอก รองรับได้ 100 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลเวชการุณรัศมิ์
- เขตลาดกระบัง: ใช้พื้นที่ร้านอาหารจงกั๋วเหยียน รองรับได้ 250 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
- เขตสะพานสูง: ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยสะพานสูง รองรับได้ 146 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลคลองสามวา
- เขตบางกะปิ: ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางกะปิ รองรับได้ 150 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลบางนา อยู่ระหว่างดำเนินการ
- เขตคันนายาว: ใช้พื้นที่อาคารฝั่งตรงข้ามสยามอะเมซิ่งพาร์ค สวนสยาม อยู่ระหว่างสำรวจ*
-
กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ
- เขตบางกอกน้อย: ใช้พื้นที่วัดศรีสุดารามวรวิหาร รองรับได้ 90 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์
- เขตคลองสาน: ใช้พื้นที่อาคารกิจไพบูลย์ อิมพอร์ต รองรับได้ 130 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลตากสิน
- เขตทวีวัฒนา: ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยทวีวัฒนา รองรับได้ 110 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลตากสิน
- เขตธนบุรี: ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อาคารพระยาสีหราชเดโชทัย รองรับได้ 100 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลตากสิน ทั้ง 2 ศูนย์อยู่ระหว่างดำเนินการ
-
กลุ่มเขตกรุงธนใต้
- เขตบางแค: ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค (เรืองสอน) รองรับได้ 150 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ
- เขตบางขุนเทียน: ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางขุนเทียน รองรับได้ 120 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
หรือหากที่บ้านสะดวกต่อการรักษาตัวแบบกักตัวอยู่บ้านเอง (Home isolation) ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็จะช่วยจ่ายค่าอุปกรณ์วัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนสำหรับให้คนไข้ไปใช้ที่บ้านมูลค่า 1,100 บาท พร้อมค่าอาหาร 3 มื้อ มูลค่าไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน รวมทั้งหมด 14 วัน
การกักตัวอยู่บ้านนี้จะอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาล โดยมีแพทย์โทรศัพท์หรือวิดีโอคอลตรวจสอบอาการทุกวัน มีการส่งอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ หากอาการทรุดลงก็จะส่งยาฟ้าทะลายโจรและยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้านหรือส่งรถไปรับมานอนที่โรงพยาบาลครับ
ดังนั้นแล้ว หากทราบผลว่าติดเชื้อโควิดก็ยังมีหนทางที่เราก็จะได้รับการดูแลโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามสิทธิที่เราพึงได้รับอยู่นะครับ ให้น้องรีบแจ้งหน่วยงานที่รับเรื่องเพื่อเข้ารับการรักษาโดยการโทรไปที่เบอร์ 1330,1669,1668 โดยเตรียมหลักฐานคือบัตรประชาชน ผลตรวจโควิด-19 และแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อทางเจ้าหน้าที่จะช่วยวิเคราะห์ว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มใด และควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีใดจะเหมาะสมที่สุด
สุดท้ายแล้ว พี่แมนก็ขอเอาใจช่วยให้ทุกคนรอดพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน พี่แมนรอวันที่ทุกคนจะได้กลับมาเจอคนที่รักและครอบครัวกันพร้อมหน้า และสร้างเสียงหัวเราะไปด้วยกันอีกครั้ง ขอให้เชื่อว่าความหวังยังมีเสมอครับ
พี่แมน