โรคเสี่ยงสูงวัย ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม
คราวก่อน พี่เรนนี่แชร์เรื่องโรคเสี่ยงวัย 30 ไป วัยทำงานอย่างเราๆก็ว่าร้อนๆหนาวๆแล้ว รอบนี้เรามาดูกันบ้าง ว่าแล้วอย่างรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ หรือที่เราแอบเรียกอย่างสุภาพว่า “ผู้สูงวัย” (ส่วนคุณพ่อคุณแม่มักชอบเรียกตัวเองให้ดูดีว่าเป็น “ส.ว.”) ที่ถึงวัยร่างกายเริ่มทรุดโทรมตามกาลเวลา ยังมีความเสี่ยงโรคอะไรที่สามารถพบเจอได้อีก
โรคหลอดเลือดสมอง
หลายๆคนน่าจะเคยได้ยินคนใกล้ตัวป่วยเป็นโรคนี้อย่างฉับพลัน จนทำให้ปากเบี้ยวหรือเป็นอัมพาตไปครึ่งซีก หนักเข้าก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยค่ะ
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นภาวะผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองขาดเลือดจนเซลล์สมองถูกทำลาย จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) และ หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) ส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการ
-
ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
-
กล้ามเนื้อที่หน้าอ่อนแรง ปากเบี้ยว ไม่สามารถยิงฟันหรือยิ้มได้
-
ตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก หรือตาบอดข้างเดียว
-
แขนหรือขาอ่อนแรง ซีกใดซีกหนึ่ง ยกไม่ขึ้น
-
เดินเซ ทรงตัวลำบาก อาจถึงขั้นพิการได้ หากมีอาการรุนแรง
การรักษา
- ระยะเฉียบพลัน หรือระยะ 1-2 สัปดาห์หลังจากมีอาการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง การบำบัดฟื้นฟูในช่วงนี้ จะเริ่มในขณะที่ผู้ป่วยยังนอนอยู่บนเตียงภายหลังจากที่ล้มป่วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการหดตัวของกล้ามเนื้อและการยึดติดของข้อต่อ และเพื่อให้ผู้ป่วยสูญเสียพละกำลังไปน้อยที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการบำบัดฟื้นฟูในช่วงต่อไป ก่อนที่จะทำการบำบัดฟื้นฟู ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองจากแพทย์ เพื่อประเมินระดับการรับรู้ อาการอ่อนแรง อาการชา และระดับการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆก่อน จากนั้น แพทย์และนักกายภาพบำบัดจะกำหนดเป้าหมายในการฟื้นฟู และให้การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยตามแผนที่วางไว้ต่อไป เมื่อทำการบำบัดฟื้นฟูเบื้องต้นในขั้นนี้แล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีพละกำลังกลับคืนมาเพียงพอที่จะนั่งบนเตียงได้ จึงจะทำการฝึกให้ผู้ป่วยสามารถทรงตัวในท่านั่งได้เป็นเวลานานๆ
- ระยะฟื้นตัว หรือระยะ 3-6 เดือนหลังจากมีอาการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อาการของผู้ป่วยในช่วงนี้จะเริ่มทรงตัว และสามารถนั่งเป็นเวลานานๆได้ จึงจะเริ่มทำการบำบัดฟื้นฟูที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือแผนกกายภาพบำบัดเฉพาะทาง โดยจะทำการบำบัดฟื้นฟูอย่างเข้มข้นตามแผนการฟื้นฟูที่แพทย์กำหนดไว้ให้กับผู้ป่วยแต่ละราย
- ระยะทรงตัว ระยะที่พ้นจากระยะฟื้นตัวไปแล้ว โดยทั่วไปผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการฟื้นฟูที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงแรกภายหลังจากที่ล้มป่วยใหม่ๆ แต่ในทางตรงกันข้าม หากสมรรถนะใดไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้ในช่วงนี้ ก็มีโอกาสสูงที่อาการบกพร่องจะกลายเป็นความพิการติดตัวไปตลอดชีวิต ระยะทรงตัวจึงเป็นระยะที่ผู้ป่วยจะต้องทำการบำบัดอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้สูญเสียสมรรถนะที่ฟื้นฟูมาได้แล้วนั้นไปอีก เมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่ที่บ้าน แต่ยังคงต้องทำการบำบัดฟื้นฟูที่บ้าน หรือที่สถานพยาบาลเฉพาะทางอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพื่อรักษาสมรรถภาพนั้นๆ ให้คงอยู่ต่อไปค่ะ
โรคหลอดเลือดหัวใจ
อาการ
- ปวดเค้นที่บริเวณหัวใจ มีอาการเจ็บหนักๆ เหมือนมีอะไรมาทับหน้าอก
- มีอาการเหนื่อย หายใจหอบนอนราบไม่ได้ แน่นอึดอัด หายใจเข้าไม่เต็มปอด
- หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้อาเจียน
- หมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น
น่าเสียดายที่โรคหลอดเลือดหัวใจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีจัดการเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่างๆ ด้วยการรักษาดังต่อไปนี้:
- การรักษาด้วยการใช้ยา
ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งมีหน้าที่ลดความดันโลหิตหรือขยายหลอดเลือดเพื่อให้การไหลเวียนและการสูบฉีดเลือดในหัวใจดีขึ้น ยาบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียง จึงควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดใช้ยาหากไม่ได้รับการยืนยันจากแพทย์ เนื่องจากอาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงได้ ยาที่ใช้ก็มีเช่น:- กลุ่มยาคอเลสเตอรอล : ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด โดยเฉพาะในส่วนของไขมันร้ายหรือ LDL ซึ่งมักจับตัวสะสมในหลอดเลือดหัวใจ
- ยาต้านเกล็ดเลือด
- ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ ใช้รักษาความดันโลหิตสูงและป้องกันอาการเจ็บหน้าอกโดยการปิดกั้นฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือด และลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวาย
- ยาขยายหลอดเลือด มีทั้งในรูปแบบเม็ด สเปรย์ หรือแผ่นสำหรับติดบริเวณผิวหนัง ยาประเภทนี้ทำหน้าที่ลดความดันโลหิตและอาการปวดบริเวณหัวใจ แต่อาจทำให้ปวดหัวและมึนงงได้
- ยาช่วยลดความดันโลหิต และช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ยาปิดกั้นแคลเซียม ใช้ในการลดความดันโลหิตโดยช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อของผนังหลอดเลือด จึงทำให้หลอดเลือดกว้างขึ้น แต่อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวได้
- ยาขับปัสสาวะ ช่วยขับน้ำและเกลือส่วนเกินออกจากร่างกายผ่านปัสสาวะ
- การรักษาด้วยการผ่าตัดและกระบวนการทางการแพทย์
- การทำบอลลูนหัวใจ เป็นกระบวนการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกหรือใช้ในการรักษาอาการฉุกเฉิน ผู้ป่วยต้องได้รับการสวนหลอดเลือดหัวใจก่อนการรักษาด้วยการทำบอลลูน เพื่อประเมินความจำเป็นในการผ่าตัด
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำบายพาสหัวใจ การผ่าตัดชนิดนี้มักใช้กับภาวะหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ หรือการทำบอลลูนไม่สามารถช่วยรักษาได้ ผู้ป่วยต้องได้รับการสวนหลอดเลือดหัวใจก่อนเพื่อทราบถึงความจำเป็นในการรักษา
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้ปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump Coronary Artery Bypass: OPCAB) คือวิธีการรักษาที่เป็นที่นิยม มีจุดประสงค์เพื่อให้หัวใจสูบฉีดเลือดเองโดยไม่ต้องใช้ปอดหรือหัวใจเทียม ศัลยแพทย์จะต่อเส้นเลือดใหม่ข้ามผ่านจุดที่มีการอุดตันเดิม จึงทำให้กระแสเลือดไหลเวียนได้ตามปกติ กระบวนการนี้เป็นการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด (Open-Heart Surgery) ส่วนใหญ่จึงใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนหลอดเลือดอุดตันมากเท่านั้น
- การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ใช้สำหรับกรณีที่รุนแรงและไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา หรือหัวใจไม่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์หลังการผ่าตัดเพื่อตรวจสอบการทำงานของหัวใจและผลข้างเคียง
โรคเบาหวาน
กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตาพร่ามัว ตาบอด ชาปลายมือปลายเท้า ไตเสื่อม และยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายอีกด้วย
การรักษา
การรักษาผู้ป่วยเบาหวานในประเภทที่ 1 จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปทดแทนในร่างกายด้วยการฉีดยาเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการคุมอาหารและออกกำลังกายที่เหมาะสม ในขณะที่โรคเบาหวานประเภทที่ 2 หากเป็นในระยะแรกๆ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลัง และควบคุมน้ำหนัก หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้ยาควบคู่ไปด้วยหรือฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทนเช่นเดียวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรเข้าฝากครรภ์กับแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรก พร้อมทั้งควบคุมอาหารที่รับประทานและออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลเบาหวานขึ้นที่เท้า แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ป้องกันแผล เช่น รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เฝือก หรือผ้าพันแผล เป็นต้น หากแผลเริ่มมีลักษณะรุนแรงขึ้น แพทย์อาจวางแผนการรักษาตามเหมาะสมขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของแผลเบาหวานที่เป็น ทั้งนี้ หากรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจต้องตัดอวัยวะทิ้งเพื่อป้องกันอาการลุกลาม
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ หากไม่มีการควบคุมในเรื่องของการรับประทานอาหารและดูแลรักษาสุขภาพอย่างถูกวิธี จนปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อเส้นเลือดที่นำสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกายและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งโรคแทรกซ้อนชนิดที่เกิดกับเส้นเลือดขนาดเล็ก เช่น เบาหวานขึ้นตา โรคไต เป็นต้น หรือโรคแทรกซ้อนชนิดที่เกิดกับเส้นเลือดขนาดใหญ่ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน เป็นต้น รวมไปถึงโรคแทรกซ้อนที่ระบบประสาทและที่สามารถทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียอวัยะบางส่วน นอกจากนี้สตรีมีครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษหรือการแท้งบุตรได้
โรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง ถือเป็นโรคที่พบได้ในผู้สูงอายุค่อนข้างบ่อยเลยล่ะค่ะ แม้หลายคนคิดว่าเป็นความดันอาจจะไม่เป็นอะไรมาก แต่หากปล่อยไว้นานโดยไม่รักษา ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้นะคะ
โดยโรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ตรวจพบค่าเฉลี่ยความดันตัวบนมากกว่า 140 และความดันตัวล่างมากกว่า 90 โดยผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งมักจะไม่มีอาการใดๆ ที่กว่าจะรู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูง ก็เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นแล้ว โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตตามมา จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการ
-
ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยในตอนเช้า คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศรีษะ ตามัว อ่อนเพลียและใจสั่น
-
อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก อัมพฤกษ์อัมพาต หรือเสียชีวิต
การรักษา
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านการรับประทานอาหารเบื้องต้น โดยการลดอาหารประเภทโซเดียมสูง เน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง ธัญพืช ปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันที่ดีต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการใช้ยาร่วมด้วย เพื่อช่วยปรับค่าความดันโลหิตให้ลดลงอยู่ในระดับปกติ
ทั้งนี้ การรักษายังต้องคำนึงถึงชนิดของโรคด้วย เพราะหากเป็นชนิดที่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยมีโอกาสในการรักษาหายได้มากกว่าชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง
หากปล่อยให้เกิดโรคความดันสูงเป็นระยะเวลานานและดูแลรักษาสุขภาพไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา โดยมักจะพบโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดแดง โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรคไตเรื้อรัง เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสมองในด้านความจำ มีปัญหาทางด้านสายตา หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ก่อให้เกิดความเสียหายจนถึงขั้นเสียชีวิต
โรคข้อเสื่อม
โรคข้อเสื่อม หรือ Osteoarthritis เป็นความผิดปกติของข้อที่พบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น และทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือเคลื่อนไหวร่างกายลำบากสำหรับผู้สูงอายุเช่นคุณพ่อคุณแม่ของเรา โดยลักษณะของโรคจะเกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายลงอย่างช้าๆ จนเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของข้อ เช่น มีน้ำสะสมในข้อเพิ่มขึ้น กระดูกงอกผิดปกติ กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อหย่อนยาน การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดดังกล่าวจะทำให้เคลื่อนไหวข้อได้จำกัด โรคข้อเสื่อมมักพบได้บ่อยในตำแหน่งของข้อที่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อต่อกระดูกสันหลัง
อาการ
ผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อม จะมีอาการเจ็บปวดของข้อและข้อบวม อาการข้อขัด หรือรูปร่างขาโก่งผิดปกติ เหยียดขาได้ไม่สุด โดยเฉพาะคนที่เล่นกีฬาหนักๆ หรือคนที่มีน้ำหนักตัวมากอาจเป็นตัวส่งเสริมให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น
การรักษา
น่าเสียดายนะคะ ที่ไม่มีวิธีใดที่รักษาโรคข้อเสื่อมให้หายขาดได้ จุดประสงค์ของการรักษาจึงมุ่งไปที่การลดและบรรเทาอาการต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ หากโรคข้อเสื่อมไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการได้โดยการเลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม ออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ ลดน้ำหนัก (สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก) ใช้อุปกรณ์ช่วยลดอาการตึงบริเวณข้อต่อ หรือลดกิจกรรมที่ทำให้มีอาการปวด
โรคกระดูกพรุน
เวลาพี่เรนนี่นึกถึงโรคนี้ทีไร ก็มักนึกถึงยี่ห้อนมเสริมแคลเซียมชื่อดังยี่ห้อหนึ่งทุกที ที่มักใช้พรีเซนเตอร์เป็นผู้หญิง นั่นก็เป็นเพราะว่าโรคกระดูกพรุนมักพบในผู้หญิงสูงอายุนั่นเอง โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือนซึ่งมีการทำงานของฮอร์โมนลดลง จึงส่งผลทำให้กระดูกมีความหนาแน่นน้อยลง กระดูกบางและเปราะหักง่ายขึ้น
อาการ
โดยส่วนมากโรคกระดูกพรุนมักจะไม่มีอาการที่ชัดเจน แต่เป็นการตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อตรวจสุขภาพในผู้สูงวัย หรือบางรายอาจพบการปวดหลังและสะโพกโดยมักเป็นตอนกลางคืนและตอนเปลี่ยนท่าทาง
ที่สำคัญในรายที่กระดูกบาง หากเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยก็นำไปสู่การเกิดกระดูกหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ นอกจากนี้โรคกระดูกพรุนอาจทำให้หลังค่อมและความสูงลดลงได้อีกด้วย
เมื่อเกิดโรคกระดูกพรุน ปัญหาที่ตามมาก็คือความเจ็บปวดจากภาวะกระดูกทรุดตัวและอาการปวดหลัง ซึ่งส่งผลให้เคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด มีความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดลง โดยเฉพาะกิจกรรมนอกบ้านหรือการเข้าสังคม จึงอาจทำให้ผู้ป่วยเก็บตัวหรือแยกตัวออกจากสังคม และอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าต่อไปได้
นอกจากนี้ หากเกิดอาการกระดูกหัก โดยเฉพาะการแตกหักบริเวณกระดูกสะโพก จะทำให้ผู้ป่วยเดินไม่ได้ ขยับตัวลำบากเพราะความเจ็บปวด ต้องนั่งหรือนอนอยู่กับที่ตลอดเวลา ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคและอาการแทรกซ้อนที่อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ อย่างการเกิดแผลกดทับ หรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
การรักษา
การดูแลสุขภาพและบำรุงกระดูก: บำรุงกระดูกและดูแลร่างกายให้กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงโดยรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนและมีค่าความเป็นกรดสูง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้แรงกายอย่างหักโหม รวมถึงควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
การเสริมแคลเซียม: รับประทานยาเม็ดเสริมแคลเซียมและรับวิตามินดีที่ช่วยเสริมสร้างการดูดซึมแคลเซียม รวมทั้งรักษาระดับแคลเซียมในกระแสเลือด เพื่อรักษามวลกระดูกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยอาจสังเคราะห์วิตามินดีได้เองทางผิวหนังด้วยการรับแสงแดดอ่อนๆ ในตอนเช้า
การใช้ยารักษา: อาจใช้ยา เช่น ยาอะเลนโดรเนท ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเซลล์สลายกระดูก ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ในกระบวนการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น, ยาไรซีโดรเนท ซึ่งออกฤทธิ์ต่อเนื้อเยื่อกระดูก ลดอัตราการสลายตัวของกระดูก และเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก, ยาไอแบนโดรเนท ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูกเช่นกัน โดยมีทั้งแบบเป็นเม็ดรับประทานและแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดกรดโซลิโดรนิกเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก ออกฤทธิ์ยับยั้งการปล่อยแคลเซียมสู่กระแสเลือด และป้องกันภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เป็นต้น
การเพิ่มฮอร์โมน: โดยเพิ่มระดับฮอร์โมนบางชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างกระดูก อย่างการฉีดหรือให้ยาเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนแก่ผู้ป่วยเพศหญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนหรือผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไป ทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ในระดับปกติ ยาฮอร์โมนที่ใช้ก็เช่นยาราลอคซิฟีน เป็นต้น ซึ่งยานี้มีฤทธิ์ป้องกันการดูดซึมแคลเซียมออกจากกระดูก ช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้กระดูกแตกหักง่าย รวมถึงอาจมีผลรักษาและป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมบางชนิดด้วย แต่ผลข้างเคียงหลังใช้ยาก็คือ ผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนวูบวาบ ครั่นเนื้อครั่นตัว และมีความเสี่ยงในการจับตัวจนเกิดลิ่มเลือดอุดตันมากขึ้น
นอกจากนี้ มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโปรตีนถั่วเหลืองแล้วพบว่า ในถั่วเหลืองมีโปรตีนไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเนื้อเยื่อกระดูก เมื่อทำงานร่วมกับแคลเซียม จะช่วยป้องกันภาวะกระดูกเสื่อมและลดอัตราการแตกหักของกระดูกได้
อ้างอิงจาก :
- https://www.pobpad.com